วันนี้(วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2566)เวลา 08.30 น. พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง ประธานคณะอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (ส่วนกลาง) ฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม นำคณะองค์กรภาคีเครือข่าย “บวร” จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าเยี่ยมชม “โครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย ประจำปี พ.ศ.2566” พร้อมเข้าชมนิทรรศการประกอบสื่อนวัตกรรมทางพระพุทธศาสนายุคดิจิทัล โลกเสมือนจริง จักรวาลนฤมิต และโรงภาพยนตร์สื่อธรรมะ 3 มิติ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของโครงการฯ ภายใต้การขับเคลื่อนตามแนวปฏิบัติพันธกิจโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของคณะสงฆ์ ในการพัฒนาพื้นที่ทางสังคม และการเรียนรู้ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่จิตใจ และปัญญา โดยนำเสนอในหัวข้อเรื่อง “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกของโลก” ณ วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
โดยมีพระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พร้อมด้วย พระวิเทศธรรมาภรณ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย คณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ถวายการต้อนรับ และนำเยี่ยมชมฯ
โดยคณะฯ ได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ดำเนินโครงการฯ พร้อมศึกษาดูงานแนวทางการปลูกฝังศีลธรรมให้แก่เยาวชนตามพุทธวิธีผ่านโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย ประจำปี พ.ศ.2566 ณ มหารัตนวิหารคด พระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ นอกจากนี้ พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง ประธานคณะอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (ส่วนกลาง) ฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ยังได้นำคณะสงฆ์ สามเณรผู้เข้าร่วมโครงการฯ และคณะองค์กรภาคีเครือข่าย “บวร” จังหวัดปทุมธานี ที่เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานโครงการฯ สวดมนต์สรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย และปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา เพื่อรวมบุญกุศลที่เกิดขึ้น รวมใจถวายพระพรชัยมงคล และถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันประสูติ (29 เมษายน พ.ศ.2566) เป็นสมานฉันท์อีกด้วย
จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดแสดงนิทรรศการประกอบสื่อนวัตกรรมทางพระพุทธศาสนาในยุคดิจิทัล เรื่อง “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาเอกของโลก” ซึ่งนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนที่คงอยู่คู่โลกมายาวนานกว่า 2,600 ปี ที่จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้สามเณรได้เรียนรู้วิถีการสร้างบารมีบนเส้นทางของพระมหาบุรุษ ที่ทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันต่อกรกับทัพพญามารด้วยศึกสงครามภายใน และชนะได้ด้วยการหยุดนิ่งสู่ทางสายกลางตรงต่อพระนิพพาน พร้อมค้นพบพระธรรมคำสอนที่เป็นดั่งแสงสว่างภายในนำใจคนทั้งโลก โดยนิทรรศการฯ แบ่งออกเป็น 7 ห้อง ประกอบด้วย ห้องกว่าจะมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุคคลต้นแบบของจักรวาล, ห้องการสร้างบารมี 20 อสงไขยไม่เคยเปลี่ยนใจ, ห้องเจ้าชายสิทธัตถะขัตติยะผู้สมบูรณ์พร้อม, ห้องเทวทูต 4 สัญญาณเตือนสุดท้าย แก่ เจ็บ ตาย สมณะ, ห้องทรมานกายสู่เส้นทางสายกลาง, ห้องค่ำคืนแห่งการหลุดพ้นยกตนสู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ห้องขอเป็นเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ห้องฝากความประทับใจฝากหัวใจไว้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และโซนกราบสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแว่น VR สู่โลกเหมือนจริง (Virtual Reality) ผ่านเทคโนโลยีจักรวาลนฤมิต (Metaverse) ต่อด้วยการรับชมภาพยนตร์สื่อธรรมะ 3 มิติ นำเสนอเนื้อหาเพื่อมุ่งปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้แก่เยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของพระพุทธศาสนา และประเทศชาติ โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ทำให้ตนเอง และผู้อื่นเดือดร้อน นำสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามแนวทางคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับโครงการบรรพชาสามเณรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วไทย ประจำปี พ.ศ.2566 นั้น จัดขึ้นในภาคฤดูร้อน รับสมัครเยาวชนชายทั่วประเทศ อายุ 10-18 ปี มีผู้เข้ารับการอบรมฯ รวมกว่า 5,700 คน เริ่มการอบรมฯ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2566 ถึง วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 โดยแบ่งสรรพื้นที่ของมหารัตนวิหารคดรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ เป็น 10 Site อบรมฯ หลักสูตรการอบรมฯ มุ่งเน้นปลูกฝังศีลธรรม 6 ข้อ ประกอบด้วย ให้รักและศรัทธาในพระพุทธศาสนา, รักการปฏิบัติธรรม, มีความเคารพในพระรัตนตรัย, มีความกตัญญูต่อบิดามารดา, มีสัมมาทิฏฐิ เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ผ่านกระบวนการอบรมฯ ทั้งการเรียนรู้หลักทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดทักษะ ปลูกฝังนิสัยแห่งความเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองดีของชาติ และเกิดพลังสืบสานพระพุทธศาสนาร่วมกัน นอกจากนี้ ในระหว่างการอบรมฯ ผู้ปกครองยังได้มีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์โครงการฯ สืบสานวัฒนธรรมชาวพุทธ สืบทอดอายุของพระพุทธศาสนา ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่สามเณร เพื่อปลูกฝังศรัทธา และยังความปลื้มปีติใจให้แก่ครอบครัวอีกด้วย.