DSI รับเป็นคดีพิเศษรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด

0
465

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เดินทางไปขอรับสำนวนคดี การบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด บริเวณเหนือเขื่อนบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จากพนักงานสอบสวน สภ.กะทู้ มาเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เป็นคดีพิเศษที่ 37/2564 โดยมีการหารือกับพนักงานสอบสวนท้องที่
เพื่อทราบรายละเอียดการดำเนินการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรมป่าไม้ได้มีหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีที่มีกลุ่มนายทุนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันรุกป่าต้นน้ำเหนือเขื่อนบางวาด ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 108 ไร่ ขอให้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว จากการสืบสวนพบพฤติการณ์การกระทำผิด โดยมีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด มีการนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปเปิดเส้นทาง มีการโค่นต้นไม้ที่อยู่ในระหว่างเส้นทางออก ตรวจพบมีการตัดฟันไม้พื้นล่างออกไป และมีการกานต้นไม้เพื่อให้ไม้ยืนต้นตาย โดยมีเจตนาเพื่อเข้าไปยึดถือครอบครองป่าและที่ดินของรัฐ คำนวณเนื้อที่ได้ จำนวน 108-3-43 ไร่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 31 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ประกอบมาตรา 72 ตรี วรรคสอง และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ประกอบมาตรา 108 ทวิ โดยพื้นที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำการตรวจยึดพื้นที่และได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.กะทู้ เพื่อให้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเมื่อสืบสวนเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษจึงรับโอนคดีดังกล่าวมาทำการสอบสวนต่อไป
พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า กรมสอบสวน
คดีพิเศษ ได้พิจารณากระทำดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่บุกรุกจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ มีไม้ธรรมชาติขนาดใหญ่จำนวนมาก และเป็นป่าต้นน้ำของเขื่อนบางวาด ซึ่งเป็นแหล่งที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต จึงเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มี หรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ อันมีลักษณะเป็นคดีความผิดทางอาญามาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นความผิดที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกําหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 และกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 31 ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 72 ตรี ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 108 ทวิ อยู่ในอำนาจที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) โดยได้รับเป็นเลขคดีพิเศษที่ 37/2564 และมอบหมายให้ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ทำการสืบสวนและสอบสวนคดีนี้