ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ตัดตอนกระเช้าปีใหม่ไร้คุณภาพ ลุยค้น 8 ร้านซุปเปอร์มาเก็ตจีนทั่วกรุง ยึดของกลางกว่า 2 หมื่นชิ้น

0
32

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการระดมตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปที่นำเข้ามาจากประเทศจีน 8 จุด ก่อนเทศกาลปีใหม่ ตรวจยึดของกลาง 55 รายการ จำนวนกว่า 25,823 ชิ้น
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปรากฏข่าวเด็กซื้อขนมนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่มี อย. มาบริโภค จนเกิดอาการแพ้ หน้าบวม จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบร้านขายสินค้าทั่วไปที่นำเข้ามาจากประเทศจีน โดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.) หรือ อาหารที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย โดยหากประชาชนซื้อไปบริโภคอาจทำให้เข้าใจสรรพคุณ วิธีการบริโภค และส่วนประกอบต่างๆ คลาดเคลื่อน อีกทั้งไม่สามารถทราบถึงแหล่งผลิต และมาตรฐานในการผลิต จนเกิดอันตรายในการบริโภคได้
ประกอบกับในช่วงเดือนธันวาคม อยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนออกมาซื้อสินค้าเพื่อนำไปจัดกระเช้ามอบเป็นของขวัญ ซึ่งหากมีการนำสินค้าที่ไม่ผ่าน อย. ไปจัดกระเช้าของขวัญ หรือนำไปบริโภคต่อ อาจส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ จึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างร้านจำหน่ายสินค้าลักษณะดังกล่าวอีกในครั้งนี้ ต่อมาระหว่างวันที่ 2–27 ธันวาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลย (อย.) เข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป (ซุปเปอร์มาเก็ตจีน) จำนวน 8 แห่ง ดังนี้

1.หอเจี๊ยะซุปเปอร์มาเก็ตจีน ถนนเยาวราช แขวงแฃะเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 2.ร้านร้านหวัง จง หวัง ซุปเปอร์มาเก็ตจีน แขวงแฃะเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย 3.ร้านร้านหม่าล่า เนื้อไก่ ปลา แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย 4.ร้านร้านซูซาน จือเดียน ซือฝ่ายช่าย แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย

5.ร้านร้านอี้หาว เรสเตอรองต์ จำกัด แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 6.ร้าน เฮง เฮง ซูปเปอร์มาร์เก็ต แขวงแฃะเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 7.ร้านซุปเปอร์มาเก็ตจำหน่ายสินค้าจากประเทศจีน ถนนทรงสวัสดิ์ แขวงและ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 8.ร้านซุปเปอร์มาเก็ตจีน RCA โครงการอัลซิตี้อเวนิว ถนนพระรามเก้า แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร รวมตรวจค้น 8 จุด ยึดของกลาง จำนวน 55 รายการ จำนวนกว่า 25,823 ชิ้น มูลค่ากว่า 1,041,670 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

โดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากภาษาจีน และนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งหมด โดยเป็นผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป-อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภครูปแบบต่างๆ เช่น หมึกกรอบปรุงรส เมล็ดทานตะวัน น้ำพริกเผา ผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส เครื่อเทศ และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เป็นต้น เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการระดมกวาดล้างการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลและมีการเผาทำลายไปแล้วจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. โดยในปี พ.ศ.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลย (อย.) ปฏิบัติการตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน กว่า 47 แห่ง และมีการเผาทำลายไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา และยังมีการเฝ้าระวังร่วมกันมาโดยตลอด เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย ทั้งแฟลตฟอร์มออนไลน์และหน้าร้านทั่วไป หากพบไม่มีเลขสารบบอาหาร อย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากไม่ทราบแหล่ง และมาตรฐานในการผลิต และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าว โดยจะกวดขันอย่างต่อเนื่อง และดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา