สายสัมพันธ์แห่งศรัทธา สู่ธรรมยาตราครั้งที่ 4 “ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย ”

0
30

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980
บทความ
ก้าวเข้าสู่เส้นทางธรรมยาตราครั้งที่ 4 ตอนที่ 2
22 พฤศจิกายน 2024 by Writer Bodhigaya
สายสัมพันธ์แห่งศรัทธา สู่ธรรมยาตราครั้งที่ 4 “ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย ” ปักหมุดหมายแรก ณ พุทธวิหารสาญจี กับเส้นทางพระอรหันตธาตุ ภายใต้การดูแลรักษาของพระอุปติสสะเถโร ประธานพุทธวิหารสาญจี และประธานมหาโพธิสมาคมแห่งศรีลังกาคนปัจจุบัน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เป็น 1 วันสำคัญในรอบ 1 ปี ที่ได้รัฐบาลอินเดียได้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากห้องมั่นคงภายในพุทธวิหารสาญจี อินเดีย ให้ประชาชนได้กราบสักการะ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ทำหน้าที่ดูแลรักษาพระอรหันตธาตุ คือพระอุปติสสะเถโร ประธานพุทธวิหารสาญจี และประธานมหาโพธิสมาคมแห่งศรีลังกา ท่านยังเป็นผู้ลงนามอนุมัติการอัญเชิญเสด็จพระอรหันตธาตุ พร้อมกับการอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุ ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเดลี มาประดิษฐานในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม 2567 เพื่อให้ชาวพุทธลุ่มน้ำโขงได้กราบสักการะ ตามโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 3 “ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคา ลุ่มน้ำโขง” นับเป็นครั้งแรกที่อัญเชิญเสด็จออกจากพุทธวิหารสาญจี ภายใต้การผลักดันด้วยพลังศรัทธาของ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมกับรัฐบาลไทย

พระอุปติสสะเถโร ท่านได้เล่าเรื่องราวประวัติของพระอรหันตธาตุ ที่อยู่ในการดูแล ไปจนถึงประวัติชีวิตจนถึงปัจจุบัน ในเวทีการเสวนาหัวข้อ “ธรรมวิชัยสู่ศตวรรษแห่งธรรม” จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ณ วัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี โดยกล่าวถึงความรู้สึกว่า ดร.สุภชัย คือเพื่อนและกัลยาณมิตร เช่นเดียวกับคณะสงฆ์อินเดียที่เดินทางร่วมคณะในครั้งนี้ เชื่อว่าความสำเร็จมาจากอานุภาพของพระอรหันตธาตุที่อัญเชิญเสด็จ

พระอุปสิสสะเถโร เล่าถึงประวัติศาสตร์ของพระอรหันตธาตุชุดนี้ ตั้งแต่อดีตได้ถูกอัญเชิญจากสาญจีไปที่กรุงลอนดอน ก่อนจะย้ายจากลอนดอนกลับมาสู่อินเดีย ผ่านประเทศศรีลังกา ซึ่งอดีตสถูปสาญจีได้ถูกค้นพบโดยชาวอังกฤษ หลังจากพระพุทธศาสนาได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียเกือบ 800 ปีในศตวรรษที่ 12

ขณะที่พระอุปติสสะ อายุ 12 ขวบ ได้เดินทางจากประเทศศรีลังกามาอินเดีย เพื่อเรียนหนังสือที่เมืองสารนารถ ซึ่งมีผู้คนเดินทางจากทั่วโลกเพื่อมากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีเพื่อนชาวพุทธ จากไทย เมียนมา ศรีลังกาและประเทศต่างๆ แต่ไม่มีเพื่อนชาวพุทธในอินเดีย เพราะเป็นช่วงที่พุทธศาสนาสูญหายจากอินเดีย จากนั้นพระพุทธศาสนาจึงกลับคืนมาสู่อินเดียอีกครั้งโดยท่าน อานาคาริก ธรรมปาละ เพื่อเผยแพร่และฟื้นฟูพระพุทธศาสนากลับคืนสู่อินเดียและทั่วโลกอีกครั้ง ด้วยการก่อตั้งมหาโพธิสมาคมแห่งศรีลังกา ในปี 1891 จึงได้เชิญเพื่อนจากไทย เมียนมา มาร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งในบันทึกของมหาโพธิสมาคม ระบุไว้ว่า มีเจ้าชายจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมด้วย และปัจจุบันพระอุปติสสะเถโรได้เป็นประธานรุ่นที่ 3 ของมหาโพธิสมาคม ได้พยายามเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศชาวพุทธทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งในศรีลังกามีพุทธ ทั้งหมด 6 นิกาย ท่านอยู่ในสยามนิกาย จึงมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชาวพุทธไทย

ในปี 1851 ได้มีชาวอังกฤษนำพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปที่กรุงลอนดอน เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นเวลากว่าร้อยปี และในช่วงเวลานี้เอง ท่านอานาคาริก ธรรมปาละ ได้ก่อสร้างวัดพุทธในกรุงลอนดอน พระชาวศรีลังกาจึงได้เข้าไปเยี่ยมชมในพิพิธภัณฑ์ และทราบว่ามีพระอรหันตธาตุเก็บไว้ จึงส่งเรื่องรายงานมหาโพธิสมาคมแห่งศรีลังกา สำนักงานใหญ่กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา แล้วท่านธรรมปาละ ได้เริ่มดำเนินการเรียกร้องให้ชาวอังกฤษส่งคืนสู่ชาวพุทธ แต่ในช่วงชีวิตท่านยังทำไม่สำเร็จ ท่านได้เสียชีวิตลงในปี 1933 คณะลูกศิษย์จึงสานต่อการเรียกร้อง จนประสบความสำเร็จ โดยมีหลานของท่านธรรมปาละไปอัญเชิญกลับจากลอนดอน และดำเนินการกลับศรีลังกาเป็นเวลาหลายปีจึงสำเร็จ

การเดินทางของพระอรหันตธาตุชุดนี้ผ่านศรีลังกาแล้วจึงกลับไปอินเดีย ในช่วงเวลานั้นไม่ว่าพระอรหันตธาตุจะเสด็จผ่านที่เมืองไหน ผู้นำของประเทศหรือเมืองนั้นจะต้องมาเข้าสักการะรับเสด็จ และทุกครั้งที่มีการอัญเชิญจะเกิดปรากฎการณ์ท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงเป็นอัศจรรย์

ในปี 1941 พระอรหันตธาตุที่อัญเชิญเสด็จจากอังกฤษสู่ศรีลังกามาอินเดีย ที่เมืองกัลกัตตาโดยมีท่านประธานาธิบดีคนแรกของอินเดียเดินทางไปรับด้วยตนเอง เพื่อกลับคืนเมืองสาญจี ต้นกำเนิดที่เก็บพระอรหันตธาตุในอดีตกาล และมีการสร้างวิหารสาญจีเพื่อเก็บพระอรหันตธาตุไว้เป็นการถาวร ซึ่งกษัตริย์ชาวมุสลิมของรัฐมัธยประเทศบริจาคที่ดินให้สร้างวิหาร เสร็จสิ้นในปี 1952 โดยมีประธานาธิบดีเดินทางไปเปิดวิหารด้วยตนเอง

ตั้งแต่ปี 1952 พระอรหันตธาตุถูกเก็บในวิหารสาญจีโดยไม่เคยถูกนำออกมาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แล้ววันหนึ่งได้มีจดหมายจากประเทศไทยขออนุญาติอัญเชิญพระอรหันตธาตุชุดนี้มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในเมืองไทย ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ สร้างความปราบปลื้มที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลอง และร่วมประกาศสัทธรรม

เช่นเดียวกับการเดินทางไปเยือนอินเดีย ของ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ตามคำเชิญของพระอุปติสสะเถโร ให้เข้าร่วมในพิธีอัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ณ พุทธวิหารสาญจี เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ด้วยพระพุทธศาสนาระหว่าง 2 ลุ่มน้ำ และเป็นจุดหมายแรกของเส้นทาง ธรรมยาตราครั้งที่ 4 “ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย”


ชาวอินเดียและศรีลังกา เข้ากราบสักการะ”พระอรหันตธาตุ”ณ พุทธวิหารสาญจี สาธารณรัฐอินเดีย ในรอบ 1 ปี ซึ่งในปีนี้ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เข้าร่วมงานตามคำเชิญของประธานพุทธวิหารสาญจี และเป็นหมุดหมายแรกของโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย

ขบวนแห่ถวายข้าวมธุปายาส จัดขึ้นอย่างสวยงาม เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังพุทธวิหารสาญจี ในโอกาสครบ 1 ปี ที่ได้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ออกมาจากห้องมั่นคงเพื่อให้ชาวอินเดียและศรีลังกา ได้กราบสักการะ ในเวลาเพียง 1 วันเหมือนกับทุกๆปี ซึ่งในปีนี้ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้เข้าร่วมงานตามคำเชิญของ พระอุปติสสะเถโร ประธานพุทธวิหารสาญจี และประธานโพธิสมาคมแห่งศรีลังกาคนปัจจุบัน

โดย รัฐมนตรีจชของรัฐมัธยประเทศและเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้เข้ากราบสักการะ“พระอรหันตธาตุ”ที่กลายเป็นหมุดหมายแรกของโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย โดยมีเป้าหมายหลอมรวมทุกศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสันติสุขและสันติภาพของโลก

ดร.สุภชัย มอบเข็มกลัดสัญลักษณ์โครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 ให้กับ“พระอุปติสสะเถโร”เพื่อ“ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ”เป็นประวัติศาสตร์การทำงานร่วมกันในศตวรรษที่21 ที่จะนำหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ และสร้างความผูกพันของดินแดนลุ่มน้ำโขงและมหานทีคงคา เสมือนหนึ่งนำ”ธรรมะ” จาก“ดินแดนสุวรรณภูมิ”กลับสู่“ดินแดนพุทธภูมิ”

“พระอุปติสสะเถโร”กล่าวต้อนรับคณะธรรมยาตราสู่สาญจี โดยแสดงความเห็นว่า ศตวรรษที่21เป็น”ศตวรรษแห่งธรรม”ซึ่งมหาโพธิสมาคมแห่งศรีลังกา รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เพื่อทำความฝันของศตวรรษแห่งธรรมให้เป็นความจริง

ขณะที่ รัฐมนตรีการพัฒนาชนบทและแรงงานแห่งรัฐมัธยประเทศ แสดงความยินดีและพร้อมสนับสนุนโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 ในการประกาศศตวรรษแห่งธรรม และมั่นใจว่าทุกศาสนาจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

นาง เทจาร์ ชูดาสะมา ผู้อุทิศตนให้แก่การปฏิบัติธรรม จากรัฐคุชราตนับถือศาสนาฮินดู กล่าวถึงการเข้าร่วมพิธีอัญเชิญพระอรหันตธาตุครั้งนี้ ว่า รู้สึกประทับใจมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการศักดิ์สิทธิ์ในวันนี้ โดยเชื่อว่า“พระพุทธศาสนา”จะสามารถหลอมรวมผู้คนทุกศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยคำสอนที่เรียบง่ายและปฏิบัติได้จริง

หมุดหมายแรกแห่ง”การประกาศศตวรรษแห่งธรรม”เริ่มขึ้นที่ พุทธวิหารสาญจี ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่ประดิษฐานของพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวกทั้งสอง เส้นทางต่อจากนั้นคือการธรรมยาตราไปยัง ปัตนะ-พุทธคยา-นิวเดลลี และคุชราต ระหว่างวันที่ 2-10 ธันวาคม 2567 โดยพิธีการสำคัญจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2567 คือการประกาศปฏิญญาว่าศตวรรษแห่งธรรม ซึ่งมาจากวิสัยทัศน์ศตวรรษแห่งเอเชียด้วยหลักธรรม ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งสาธารณรัฐอินเดีย ที่กล่าวไว้เมื่อปี 2558 ว่า ศตวรรษที่ 21 คือ”ศตวรรษแห่งเอเชีย”แต่จะเป็น”ศตวรรษแห่งเอเชีย”ไม่ได้ ถ้าไม่มี“พระพุทธศาสนา”เป็นจุดเชื่อมโยงประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน

สัญลักษณ์สำคัญครั้งประวัติของโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 นอกจาก“การประกาศปฏิญญาศตวรรษแห่งธรรม”แล้วยังมีการฝัง “ไทม์ แคปซูล”หรือ“แคปซูลแห่งกาลเวลา”เพื่อเก็บรักษาหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและสาธารณรัฐอินเดีย บรรจุไว้ใต้พิภพ ณ .ดินแดนพุทธสถานแห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยจะมีการเปิด”แคปซูลแห่งกาลเวลา”ในอีก 234 ปีข้างหน้า เพราะปี พ.ศ.234 เป็นปีที่”พระเจ้าอโศกมหาราช”ส่งคณะสมณทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังดินแดนต่างๆรวม 9 สาย อีกทั้ง ตัวเลขปี 234 ยังรวมกันได้เลข 9 หมายถึง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ผู้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของไทย