สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มอบประกาศเกียรติคุณวัดต้นแบบปี 2567 จับมือ 15 องค์กรขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐสร้างสุข มุ่งหน้าสู่ระยะ 2

0
497

วันที่ 21 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารปฎิบัติธรรมพระธรรมรัตนาภรณ์ วัดสายสุวพรรณ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และประทานโล่รางวัล พัดเกียรติยศ และเกียรติบัตร แก่วัดต้นแบบระดับหน ระดับภาค และระดับจังหวัดประจำปี2566 ณ อาคารปฎิบัติธรรมพระธรรมรัตนาภรณ์ วัดสายสุวพรรณ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีนายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางยุพา ทวีวัฒนากิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอินทพร จันเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย 15 องค์กรทั่วประเทศเข้าร่วมในพิธี

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ประทานโอวาทความว่า “หัวใจของโครงการนี้ คือ กลไกการสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจกันของวัด ชุมชน และภาคเครือข่ายในท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และเจตจำนงให้วัดเป็นสัปปายะสถานที่จะอำนวยสันติรสให้แก่ผู้เข้ามาพึ่งพา บำบัดทุกข์และเสริมสร้างความสุขกายสุขใจ อันจะนำไปสู่ความวัฒนาสถาวรของชาติและสถาบันพระพุทธศาสนาสืบไป”
โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ดำเนินการโดยฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เริ่มต้นขับเคลื่อนเมื่อปี พ.ศ.2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะ เป็นแหล่งเรียนรู้พระพุทธศาสนา และเป็นรมณียสถานที่สร้างความสงบทางจิตใจให้กับพุทธศาสนิกชน มีเป้าหมายสำคัญ คือการส่งเสริมและขับเคลื่อนกิจกรรมด้วยองค์ความรู้ 5 ส. ตามหลักสัปปายะ 7 นำไปสู่การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ จัดการสิ่งแวดล้อม รักษาความสะอาดภายในวัดให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ พัฒนาการเรียนรู้สังคมวิถีพุทธ ปลูกฝังให้ประชาชนมีจิตอาสาเพื่อพัฒนาสังคม

พระธรรมรัตนาภรณ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1 ประธานคณะกรรมการบริหารกลางโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เปิดเผยว่า “ปัจจุบันโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 โดยมุ่งเป้าหมายยกระดับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาวะของวัดกว่า 35,000 วัดพร้อมทั้งชุมชนรอบวัดให้มีมาตรฐานที่ดีตามวิถีพุทธ รวมทั้งการส่งเสริมการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็น Soft Power ของสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการดำเนินการระยะที่ 2 ระหว่างปี 2566 – 2570 มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเห็นความสำคัญของโครงการ ได้แสดงเจตจำนงร่วมขับเคลื่อนโครงการ โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจำนวน 15 องค์กร อาทิ มหาเถรสมาคม โดยฝ่ายสาธารณูปการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมอนามัย กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท เนเจอกิฟ จำกัด เป็นต้น”