วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยนพ.สุระ วิเศษศักดิ์อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ. ภานุวัฒน์ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นแพทย์ ทำงานคลินิกเสริมความงาม โดยได้ร่วมกันจับกุม นายพัสกร (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปีในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต”
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า มีคลินิกเสริมความงามเปิดให้บริการรับฉีดวิตามินผิว ฟิลเลอร์ โบท็อก และร้อยไหม โดยแพทย์ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ในซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงและเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จึงทำการสืบสวนขยายผลจนทราบข้อมูลว่า สถานพยาบาลดังกล่าวมีชื่อ คลินิกแห่งหนึ่ง” มีนายพัสกร (สงวนนามสกุล) แสดงตนแอบอ้างเป็นนายแพทย์ให้บริการฉีดรักษา เสริมความงามแก่ประชาชนทั่วไปจริง ซึ่งไม่มีความรู้ ความชำนาญ อย่างแพทย์ผู้มีวิชาชีพ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเข้ารับบริการ โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นแพทย์จริงหรือไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จึงได้ร่วมกันวางแผนเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมสถานพยาบาลดังกล่าวในทันที ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
(อย.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าทำการตรวจสอบ “คลินิก”ในซอยอนามัย 2 ถนนศรีนครินทร์ แขวงและเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร พบว่าคลินิกดังกล่าว เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปอยู่ และพบนายพัสกรฯ แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษา โดยเป็นผู้ผสมตัวยา และกำลังฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้ผู้ที่เข้ารับบริการด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมตัวนายพัสกรฯ และได้ตรวจยึดเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่เป็นความผิดกว่า 26 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.
ดำเนินคดี
โดยเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ตรวจสอบใบประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบประกอบกิจการดำเนินสถานพยาบาล สถานพยาบาล พบว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่ได้รับรักษาพยาบาลนอกเวลาที่ได้รับอนุญาต และไม่มีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ให้การรักษาโดย นายพัสกรฯ รับว่าตนไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แต่อย่างใด โดยเรียนจบเพียงการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จากนั้นได้เข้าทำงานในคลินิกเสริมความงามในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล เนื่องจากมีความสนใจในด้านศัลยกรรมเสริมความงาม และเห็นช่องทางว่ามีรายได้ดี จึงเริ่มรับงานโดยแอบอ้างตัวเป็นแพทย์เฉพาะทาง รับฉีดวิตามินผิว ฟิลเลอร์ โบท็อก ร้อยไหม นอกสถานที่ในลักษณะ
หมอกระเป๋า และรับงานรักษาในคลินิกกรณีคลินิกนัดหมายลูกค้าให้โดยทำมาแล้วประมาณ 5 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท จากข้อมูลการสืบสวน นายพัสกรฯ ได้ทำการให้บริการเสริมความงามให้ผู้รับบริการคลินิคดังกล่าวกว่า 120 ราย และให้บริการรับฉีดฟิลเลอร์บริเวณหน้าผากด้วย ซึ่งแพทย์โดยทั่วไปไม่รับฉีดบริเวณดังกล่าวเนื่องบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีความอันตรายสูง เพราะมีเส้นเลือดเชื่อมต่อไปยังจอประสาทตา และสมอง หากแพทย์ที่ทำการฉีดไม่มีความชำนาญมากพอ อาจทำให้อาจเกิดผลกระทบโดยตรงถึงขั้นตาบอดได้ การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา และในส่วนเจ้าของคลินิกดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนขยายผล และออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน“ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต”ต่อไป
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการเสริมความงามเนื่องจากการเสริมความงานเป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเกิดผลกระทบกับร่างกายโดยตรง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อนให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะ
ดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือน ภัยผู้บริโภค
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า จากการที่ กรม สบส.ได้รับเบาะแสว่ามีบุคคลที่มิใช่แพทย์ หรือหมอเถื่อน มาลักลอบให้บริการเสริมความงามแก่ประชาชน ในคลินิกแห่งหนึ่ง ย่านสวนหลวง จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส. วางแผนการจับกุมหมอเถื่อนรายดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองปราบปรามการกะทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจสอบคลินิกเวชกรรม ซึ่งตั้งอยู่ ณ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยพบชาย อายุ 36 ปี กำลังให้บริการฉีดวิตามินเสริมความงามแก่ผู้รับบริการ ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับมีการเปิดให้บริการแก่ประชาชนนอกเวลาทำการที่ได้ยื่นขออนุญาตกับกรม สบส. อีกทั้งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและสอบสวนผู้ให้บริการก็พบว่ามิใช่แพทย์ โดยหมอเถื่อนรายดังกล่าวยอมรับว่า ตนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แต่อาศัยว่าเคยทำงาน เป็นผู้ช่วยแพทย์มาก่อนจึงนำประสบการณ์ระหว่างนั้นมาลักลอบให้บริการเสริมความงามในคลินิกแห่งนี้ คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดใน 6 กระทง ประกอบด้วย 1.ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต 4.จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 5.จำหน่ายยาแผน
ปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 6.จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ก่อนส่งตัวผู้กระทำผิดให้พนักงานสืบสวนดำเนินคดีและจะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อไป
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า แม้จะมีการตรวจสอบแล้วว่า สถานพยาบาลที่ตนเลือกรับบริการจะเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพื่อความปลอดภัยก่อนเข้า รับบริการทุกครั้งขอให้ตรวจสอบ แบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบ โรคศิลปะ (ส.พ.6) ซึ่งแสดงไว้หน้าห้องตรวจว่าผู้ให้บริการมีชื่อและใบหน้าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบว่าผู้ให้บริการรายดังกล่าวเป็นแพทย์จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากตรวจแล้วไม่พบ หรือใบหน้าไม่ตรงกับที่แสดงของให้หลีกเลี่ยงที่จะรับบริการ และให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ กรม สบส. ขอเน้นย้ำกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และประวัติผู้ให้บริการอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการแล้ว ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ “ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”
หน้าแรก ข่าวทั่วทิศ ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย.และ สบส.จับหมอเถื่อนอ้างตัวเป็นแพทย์ คาเข็มในคลินิกเสริมความงาม