ตร.สอบสวนกลาง ร่วม อย.และ สสจ.สุพรรณบุรี ทลายโรงงานเถื่อนลักลอบผลิตซิลิโคน

0
651

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์ พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ.พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาและ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี โดย นพ.รัฐพล เวทสรณสุธีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ภญ.อุ่นเรือน เจริญสวัสดิ์เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมโรงงานลักลอบผลิตชิ้นซิลิโคนศัลยกรรมเถื่อน พร้อมตรวจยึดของกลางเป็นเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์การผลิต และซิลิโคนศัลยกรรมเสริมความงามกว่า 1,166 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 3,500,000 บาท
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี และประชาชนว่า มีผู้ลักลอบผลิตชิ้นส่วนซิลิโคนเสริมจมูก และซิลิโคนเสริมหน้าผาก โดยใช้สถานที่เป็นที่พักคนงานเป็นสถานที่ลักลอบผลิต จึงสืบสวนจนทราบสถานที่ผลิตปรากฏพบเป็นโรงสีข้าวซึ่งปัจจุบันยกเลิกกิจการไปแล้ว ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เวลาประมาณ 13.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย.และ สสจ.สุพรรณบุรี ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ 882/2565 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 เข้าตรวจค้นโรงสีร้างในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์จ.สุพรรณบุรี พบคนงานกำลังผลิต ซิลิโคนศัลยกรรม สำหรับเสริมจมูกและหน้าผาก โดยใช้สถานที่ลักษณะคล้ายที่พักคนงานเป็นฐานการผลิต และตรวจยึดของกลางเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ส่วนควบในการผลิตซิลิโคนศัลยกรรม กว่า 16 รายการ ได้แก่ 1.เครื่องจักรสำหรับผลิตซิลิโคนเสริมจมูก จำนวน 4 เครื่อง 2.เครื่องจักรสำหรับผลิตซิลิโคนเสริมหน้าผาก จำนวน 1 เครื่อง 3.แม่พิมพ์ซิลิโคนทรงต่างๆ จำนวน 68 แบบ4.ซิลิโคนเสริมจมูกและหน้าผากสำเร็จรูป จำนวน 1,098 ชิ้น 5.ซิลิโคนที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป จำนวน 43 ก้อน (หากนำไปขึ้นรูปผลิตชิ้นซิลิโคนได้ประมาณ 43,000 ชิ้น) จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์แต่อย่างใด

เบื้องต้นดำเนินคดีกับกระทำผิดในความผิดฐาน “ผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด” ผู้กระทำผิดรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา โดยให้การว่า เคยทำงานคลินิกเสริมความงามมาก่อนหน้านี้ จากนั้นลาออกแล้วมาเป็นเซลล์ขายซิลิโคนให้กับคลินิก ต่างๆ ต่อมาศึกษาการผลิตซิลิโคนด้วยตนเองจากข้อมูลโรงงานที่ทำซิลิโคนส่ง ประกอบกับมีฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้วตอนเป็นเซลล์ จึงผลิตเองส่งลูกค้าเอง ทำส่งลูกค้าประมาณ 5,000-10,000 ชิ้นต่อเดือนและมีเซลล์ช่วยขายประมาณ 3 คนส่วนมากจะส่งเองตรวจสอบพบว่ามีการส่งให้คลินิกเสริมความงามชื่อดัง ซึ่งมีหลายสาขาทั่วประเทศ และคลินิกเสริมความงามชื่อดังทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหลายสิบแห่งโดยทำมาแล้วประมาณ 2 ปี
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 1.มาตรา 15 ฐาน “ผลิตเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ” ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (สถานที่ผลิตไม่ได้รับอนุญาต) 2.มาตรา 87 ฐาน”ผลิตเครื่องมือแพทย์ตามมาตรา 6 (1) (ข) โดยไม่ได้รับใบรับแจ้งรายการละเอียด” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำหรับซิลิโคนจมูก และซิลิโคนหน้าผาก ต้องผลิตจากพลาสติกสังเคราะห์ต้องมีขบวนการผลิตแบ พิเศษ สะอาด ปลอดเชื้อ เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับร่างกายของมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย โดยเรียกว่า Medical Grade Silicone ซึ่งจะมีลักษณะนิ่ม หรือแข็งต่างกัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน และแหล่งผลิตที่ต่างกัน จากการเข้าตรวจสถานที่ลักลอบผลิตซิลิโคนจมูกและซิลิโคนหน้าผาก พบเป็นสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต อุปกรณ์การผลิตไม่
มีมาตรฐาน เช่น ซิลิโคนยังไม่ขึ้นรูป แม่พิมพ์ซิลิโคนหลายทรง เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตไม่สะอาดและไม่ปลอดเชื้อ จึงขอเตือนไปยังคลินิกทุกแห่งให้นึกถึงผู้รับบริการเป็นหลัก อย่านึกเพียงการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะการที่ผู้บริโภคเลือกคลินิกของท่านเพื่อต้องการศัลยกรรมหน้าตาในจุดบกพร่องที่ตนเองไม่พอใจ และคิดว่าการศัลยกรรมเสริมความงามอาจจะเปลี่ยนชีวิตของตนให้ดีขึ้น แต่หากคลินิกเลือกวัสดุที่ไม่ใช่ Medical Grade Silicone เพราะซิลิโคนจมูก ซิลิโคนหน้าผาก หรือเต้านมเทียม จัดอยู่ในประเภทที่ใช้งานในระยะยาวและฝังในร่างกายทั้งหมด อาจปัญหาในระยะยาวอาจจะเกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการศัลยกรรมได้เช่นเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ เสียโฉมตลอดชีวิต และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเองที่สูงมากกว่าราคาที่จ่ายไปตอนทำศัลยกรรมได้บางรายอาจเกิดภาวะซึมเศร้าจากการเสียโฉมไม่กล้าเข้าสังคมได้ ปัจจุบันมีบริษัทผลิตหรือนำเข้าที่ได้รับอนุญาตจาก อย.จำนวน 9 แห่ง และมีผลิตภัณฑ์ซิลิโคนจมูก ซิลิโคนหน้าผาก หรือเต้านมเทียม ที่ได้รับอนุญาตมี จำนวน 407 รายการ จึงขอเตือนคลินิกหรือสถานเสริมความงามว่าให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตมาใช้ในคลินิกเท่านั้น ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email:1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี11004 หรือสำนักงาสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่าการผ่าตัดศัลยกรรมเสริมจมูกหรือหน้าผากเป็นรสนิยมส่วนตัวเพื่อเสริมความมั่นใจในแต่ละบุคคล การผ่าตัดเพื่อใส่ซิลิโคนซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานเข้าไปในร่างกายอาจทำให้เสี่ยงต่อการอักเสบจนถึงขั้นติดเชื้อและอาจส่งผลร้ายกับใบหน้าและร่างกายโดยตรง การผลิตจะต้องได้มาตรฐานและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่องหากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคจะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค