“เชตวัน ก้าวไกลปทุมฯ”ผุดไอเดียยุบรวม”คูคต-ลำสามแก้ว”เป็น”เทศบาลนคร”

0
690

เชตวัน เตือประโคน ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี เปิดเผยถึงการไปพบปะประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอไอเดียแก้ปัญหา “น้ำท่วมซ้ำซาก” หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ด้วยการ ยุบรวมเทศบาลเมืองคูคต กับเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ซึ่งอยู่ใน ต.คูคต เป็น “เทศบาลนคร” เพียงเทศบาลเดียว ชี้เมื่อกระจายอำนาจเต็มสูบ ผู้บริหารท้องถิ่นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้อีกต่อไป

เชตวัน เปิดเผยว่า มีน้องๆ ศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์ ติดต่อมาขอร่วมเดินในพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาและนำเสนอรายงาน สุดท้ายลงตัวกันที่หมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา เพื่อไปดูปัญหาและคุยกับพี่น้องประชาชนเรื่องน้ำท่วม เพราะถนนหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ฝนตกหนักทีไรน้ำท่วมทุกที โดยผู้ประกอบการสะท้อนว่า อยู่มา 30 กว่าปีแล้ว ไม่เคยมีการแก้ไข พร้อมทั้งย้อนถามตนว่าถ้าได้เป็น ส.ส.แล้วจะแก้ได้หรือไม่ จึงได้อธิบายเรื่องของอำนาจหน้าที่ อย่างในกรณีนี้ ถ้าเป็น ส.ส.ใช้อำนาจนิติบัญญัติ สิ่งที่ตั้งใจจะทำก็คือ การผลักดันให้เกิดการยุบรวมเทศบาล จากที่ปัจจุบันนี้ ต.คูคต แบ่งเป็น 2 เทศบาลคือ เทศบาลเมืองคูคต กับเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ตนมีแนวคิดยุบรวมให้เป็นเทศบาลนครเพียงเทศบาลเดียว เพราะประชากรรวมประมาณ 110,000 คน สภาพความเป็นเมืองที่ผู้คนหนาแน่น และลักษณะพื้นที่ซึ่งคล้ายๆ กัน การแยกบริหารอย่างที่เป็นอยู่นั้น ยิ่งเป็นปัญหา

“หลายคนอาจจะถามว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับน้ำท่วมหมู่บ้านรินทร์ทอง? คำตอบคือ เพราะถนนหน้าหมู่บ้านรินทร์ทองนั้น เป็นรอยต่อระหว่างทั้ง 2 เทศบาล ฟุตบาตฝั่งหนึ่งคือเทศบาลเมืองคูคต ขณะที่ฟุตบาตอีกฝั่งหนึ่งคือเทศบาลเมืองลำสามแก้ว แล้วเมื่อเทศบาลฝั่งหนึ่งพัฒนาพื้นที่ ยกถนนให้สูงกว่า น้ำก็ย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า มันก็เลยทำให้อีกฝั่งท่วมเป็นประจำ ดังนั้น ถ้ายุบรวมกันเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเดียว จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่มาพร้อมกับนโยบายกระจายอำนาจเต็มสูบอย่างที่ผมพูดเสมอๆ คือ มีภารกิจหน้าที่ชัดเจน มีงบประมาณ มีบุคคลากร จะปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้อีกแล้ว” เชตวัน กล่าว

เชตวัน ระบุด้วยว่า ตนมีแนวคิดแบบนี้ มีเจตจำนงที่มุ่งมั่นที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าเป็นจินตนาการใหม่ๆ ที่จะมาแก้ปัญหาได้มากกว่าการปะ ผุ ขุด ลอก สูบน้ำเป็นครั้งๆ คราวๆ นี่คือการทำสิ่งที่หลายคนบอกว่า “ความผิดปกติ” ชาชินแล้ว และมันก็เป็นอย่างนี้ ให้กลายเป็น “ความปกติ” เป็นไปได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองแห่งความเป็นไปได้” ที่เราพยายามพูดมาตลอด และก็ไม่ได้ห่วงหรอกว่า เมื่อพูดเรื่องนี้ไปแล้ว จะมีพรรคการเมืองไหน หรือผู้สมัครคนใดมาลอกเอานโยบายนี้ไปใช้ ไปพูดต่อ เพราะที่สุดแล้ว เราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีหลายๆ คนเอาไปพูด เอาไปผลักดันให้เกิดขึ้น แล้วประโยชน์ตกกับประชาชน อย่างนี้จะหวงแนวคิด หวงนโยบายนี้ไว้ทำไม