สถาบันพระปกเกล้า ห่วงสังคมไทย หลังผลการวิจัย “Thai Peace Index 2565”พบ 12 ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ-เสรีภาพของสื่อมวลชน-ฆ่าตัวตาย”น่าเป็นห่วง

0
605

วันที่ 6 กันยายน 2565 นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดผลการวิจัย “พัฒนาตัวชี้วัดและวัดระดับสันติภาพในสังคมไทยปี 2565” จัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลนำเสนอผลการวิจัย โดย ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา (หัวหน้าโครงการวิจัย) นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว (ผู้ร่วมวิจัย) ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนา เผยแพร่จัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับระดับคะแนนสันติภาพของปี พ.ศ. 2564 และปี พ.ศ.2562 ตัวชี้วัดด้านสันติภาพ พบว่า ภาพรวมของประเทศไทย ระดับคะแนนสันติภาพเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี พ.ศ.2562 ซึ่งมีคะแนนสันติภาพเท่ากับ 3.37 คะแนน ปี พ.ศ.2564 ระดับคะแนนสันติภาพเท่ากับ 3.42 คะแนน ส่งผลให้ระดับคะแนนสันติภาพในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังถือว่า ค่าระดับคะแนนสันติภาพของทั้ง 2 ปี อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนภาพรวมระดับสันติภาพรายจังหวัดปี พ.ศ. 2564 เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มสันติภาพในสังคมไทยระหว่างปี พ.ศ.2562 และปี พ.ศ.2564 รายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด พบว่า กลุ่มจังหวัดที่มีระดับสันติภาพสูงส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูง เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ภูเก็ต ชลบุรี และหากจำแนกระดับสันติภาพ ออกเป็นรายภูมิภาค พบว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีระดับสันติภาพมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือมีระดับสันติภาพน้อยที่สุด
สำหรับประเด็นน่าเป็นห่วงในสังคมไทย โดยเรียงลำดับจากคะแนนที่ได้น้อยที่สุด ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ 1.จำนวนของประชากรในเรือนจำ (ต่อแสนคน) 2.มุมมองต่อการยอมรับให้บุคคลที่มีลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไปมีบทบาททางสังคมและการเมือง 3.มุมมองต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม 4.จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว (ต่อแสนคน) 5.มุมมองต่อความรู้สึกปลอดภัย/ความหวาดกลัว 6.มุมมองต่อระดับความรุนแรงในประเทศ 7.ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ 8.มุมมองต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง 9.สัดส่วนแพทย์พยาบาลต่อประชากร 10.มุมมองต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน 11. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน 12.อัตราการฆ่าตัวตาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีการอภิปรายประเด็น “จับชีพจรสังคมไทย ประเด็นท้าทายและโอกาสในการสร้างสันติสุขในสังคม” โดย รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์ประจำสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ กรรมการสมานฉันท์ นายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานช่วยราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) โดยผู้ทรงคุณวุฒิชื่นชมงาน Thai peace index ที่วัดระดับสันติภาพทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด เป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน ลดความรุนแรงและเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในด้านสันติภาพได้ลึกยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นนโยบายแบบเดียวเหมือนกันหมดในการกำหนดนโยบายโดยอยากให้เร่งเแก้ไขตัวชี้วัดที่น่าเป็นห่วง และจังหวัดที่ได้คะแนนไม่ดี

นอกจากควรศึกษาดัชนีในเชิงลึกในบางประเด็น ที่น่าเป็นห่วงและเร่งแก้ไข เช่น ศึกษาตัวชี้วัด ความหวาดกลัว โดยศึกษาทัศนคติทั้งผู้กระทำรุนแรงและผู้ถูกกระทำ รวมถึงพึงระมัดระวังภาพลวงตาจากตัวชี้วัด จึงควรใช้ตัวชี้วัดด้วยความระมัดระวัง โดยศึกษาให้ลึกซึ้งรอบด้าน สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย สามารถทำได้ทั้งระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด และผลักดันเข้าไปในนโยบายและยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ซึ่งมีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน