อบจ.ปทุมธานี ร่วมมือกับ สปสช. ตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ผู้สูงอายุและคนที่ต้องได้รับการฟื้นฟู เสริมบริการสุขภาพนอกเหนือจากระบบปกติ เช่น จัดหาเครื่องช่วยความพิการ ปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นเกี่ยวกับความพิการที่ปทุมธานี
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดพิธีลงนามในข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด โดยมี นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย นายแพทย์ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปทุมธานี หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพในท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า สปสช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับบุคคลในพื้นที่ได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนหนึ่ง สมทบกับเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีกส่วนหนึ่งในจำนวนที่เท่ากัน เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในเขตพื้นที่จังหวัดได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อสุขภาพจากหน่วยบริการ สถานบริการ หรือองค์กรอื่นๆ รวมทั้งได้รับเครื่องช่วยกายอุปกรณ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ ในกรณีที่มีผลการตรวจวินิจฉัย หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้อยู่ในระยะที่จำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามหลักเกณฑ์และรายการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศกำหนด
สำหรับงบประมาณในการดำเนินงาน สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้สนับสนุนงบประมาณตามจำนวนประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดปทุมธานี มีประชากรสิทธิบัตรทอง จำนวน 743,926 คน โดยสนับสนุนงบประมาณ 5 บาทต่อประชากร เป็นจำนวนเงิน 3,719,630 บาท ขณะที่ อบจ.ปทุมธานี ตั้งงบประมาณสมทบ 3,719,630 บาท เข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งปี 2565 จะทำให้มีเงินตั้งต้นในการดำเนินงาน 7,439,260 บาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564
นายแพทย์ชลอ กล่าวว่า กองทุนฯนี้ เป็นตัวเสริมเพื่อให้เกิดบริการมากขึ้น สามารถนำไปจัดบริการได้หลากหลาย เช่น การอบรมการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลคนพิการ การสนับสนุนกายอุปกรณ์ที่ระบบปกติเบิกไม่ได้แต่มีความจำเป็น เช่น รถโยก หรือคลังอุปกรณ์ เช่น ถังออกซิเจน ที่นอนลม เตียงสำหรับคนพิการ หรือเกี่ยวกับเชิงสังคม เช่น การปรับสภาพบ้านคนพิการ ทางลาด ราวจับในห้องน้ำ รวมถึงเพิ่มการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการหรือคนชายขอบ ซึ่งกิจกรรม โครงการต่างๆ นั้นจะต้องผ่านมติที่ประชุมจากคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด
ทั้งนี้การดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ ในพื้นที่เขต 4 สระบุรี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มี อบจ.ที่เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ อบจ.สระบุรี อบจ.พระนครศรีอยุธยา อบจ.สิงห์บุรี อบจ.อ่างทอง อบจ.นนทบุรี อบจ.นครนายก และ อบจ.ปทุมธานี