วันที่ 4 เมษายน 2567 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและขายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี-นนทบุรี ตรวจยึดของกลาง มูลค่าความเสียหายกว่า 5,000,000 บาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ระดมกวาดล้างร้านขายยาเถื่อน และร้านขายยาที่ใช้บุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกรขายยาแก้ไอ แก้แพ้ให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4×100 จำนวนกว่า 40 จุด ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจากการตรวจค้น พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม จึงทำการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยากลุ่มดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนหาข่าวพบว่า มีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม และทราบถึง
กลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมว่ามีการจัดเก็บส่วนผสม ฉลาก บรรจุภัณฑ์รวมถึงผลิต อยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายยาแก้
ไอปลอม จำนวน 4 จุด
ดังนี้ 1.บริษัทผู้ผลิตในพื้นที่ ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตรวจยึดฝาและขวดบรรจุภัณฑ์สีชา จำนวน 2 ขวด, ไซรัปกลิ่นราสเบอรี่ จำนวน 18 ขวด, ใบเสร็จรับเงิน,ใบส่งสินค้า จำนวน 103 แผ่น, ขวดสีชาจำนวน 1,200 ขวด อายัด 100,000 ขวด สถานที่จัดเก็บบรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบในการผลิตยาน้ำเชื่อมแก้ไอ ในพื้นที่ ต.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตรวจยึด ขวดพลาสติกสีชา จำนวน 13,160 ขวด, ไซรัปกลิ่นแอปริคอต ขนาด 5 ลิตร จำนวน 11แกลลอน, ไซรัปกลิ่นราสเบอรี่ ขนาด 5 ลิตร จำนวน 9 แกลลอน, โซเดียมไซคลาเมท (สารให้ความหวาน)ขนาด 25 กก. จำนวน 4 กระสอบ, กรดซิตริกโมโนไฮเดรท ขนาด 25 กก. จำนวน 1 กระสอบ สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมในพื้นที่ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตรวจยึดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาแก้ไอปลอม ได้แก่ โซเดียมไซคลาเมท (สารให้ความหวาน) ขนาด 25 กก. จำนวน 1 กระสอบ, กรดซิตริกโมโนไฮเดรท จำนวน 20 กก. รวมทั้งถังสำหรับบรรจุยาน้ำแก้ไอที่ผลิตแล้วขนาด 200 ลิตร จำนวน 8 ถัง สถานที่แบ่ง บรรจุยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีตรวจยึดและอายัดเครื่องบรรจุยาน้ำ จำนวน 5 เครื่อง, เครื่องตอกฝา จำนวน 5 เครื่อง, เครื่องติดฉลาก จำนวน 5 เครื่อง, ถังสำหรับบรรจุยาน้ำแก้ไอที่ผลิตแล้วขนาด 200 ลิตร จำนวน 3 ถัง, ถังสแตนเลส ขนาด 1,250 ลิตร สำหรับบรรจุยาน้ำแก้ไอที่ผลิตแล้ว จำนวน 3 ถัง, ยาแก้ไอ ยี่ห้อ Datissin ปลอม จำนวน 6,000 ขวด รวมทั้งฉลากยา และบรรจุภัณฑ์ที้ในการผลิตจำนวนหนึ่งจากการสืบสวนพบว่า กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิด นำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี มาแบ่ง บรรจุ ในโกดังในพื้นที่ ต. บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยจะเปลี่ยนสถานที่ในการผลิตไปเรื่อยๆ เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐาน “ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ฐาน “ผลิต และขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท
ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) กล่าวว่าปฏิบัติการครั้งนี้ อย. ต้องขอขอบพระคุณตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ. ที่ช่วยสืบสวนจนสามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบผลิตยาน้ำแก้ไอปลอมได้ในวันนี้ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้มีมาตรการในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง การผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอซึ่งเป็นยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงที่มีการนำไปใช้ในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีการตรวจสอบและจับกุมทั้งผู้ผลิตและณผู้ขายยากลุ่มดังกล่าวที่ผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบการกระทำผิดในร้านขายยา นอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว ยังมีการพักใช้ใบอนุญาตอีกด้วยสำหรับการจับกุม ณ สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมในวันนี้ จะเห็นได้ว่ายาปลอมเหล่านี้เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อยา อย่าเสี่ยงสั่งซื้อยาจากสื่อออนไลน์หรือซื้อจากร้านทั่วไปที่ไม่ได้รับอนุญาตขายยา ซึ่งนอกจากจะได้รับยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้แล้ว ยังไม่ปลอดภัย หรือเกิดอันตรายจากการบริโภคยาดังกล่าวได้ ขอให้เลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีกระบวนการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ มาตรฐานนำมาขายในร้านยา รวมถึงเภสัชกรจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้กับผู้ป่วยทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาตสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai,Facebook: FDAThai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้อง ขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริงบก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค