วันที่ 25 เมษายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก.,พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ.,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโกดังทุนจีนขายเครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางเถื่อน โดยลวงขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 62 รายการ จำนวนกว่า 31,922 ชิ้น
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและได้รับประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเกี่ยวกับสินค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ได้คุณภาพ ต่อมาผู้บังคับบัญชาจึงให้เฝ้าระวังติดตามและทำการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ได้คุณภาพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจสอบร้านค้าออนไลน์พบว่าเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายเป็นสินค้าไม่มีเลขจดแจ้ง และไม่แสดงฉลากภาษาไทย และยังพบว่าร้านค้าดังกล่าว มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอื่น ๆ ที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกหลายรายการ จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จัดเก็บสินค้าและกระจายสินค้าดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้าทำการตรวจค้นโกดัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ในพื้นที่ ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยขณะตรวจค้นมี น.ส.กรรณิกาฯ(สงวนนามสกุล)แสดงตัวเป็นผู้ดูแลโกดังดังกล่าว ตรวจยึดและอายัดของกลางรวม 60 รายการ จำนวน 31,922 ชิ้น มูลค่ากว่า 20,000,000 บาท โดยเป็นเครื่องสำอางปลอม จำนวน 2 รายการ และเครื่องสำอางต้องสงสัยว่าปลอม จำนวน 18 รายการ และเป็นเครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งและเครื่องสำอางไม่แสดงฉลากภาษาไทย จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า โกดังเก็บสินค้าดังกล่าว มีการบริหารจัดการในลักษณะ “เก็บ แพ็ค ส่ง” หรือ Fulfillment โดย น.ส.กรรณิกาฯ พนักงาน แจ้งว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นของนายช่านหลิง ชิว นายทุนสัญชาติจีน ซึ่งจะเป็นผู้สั่งสินค้าเครื่องสำอางที่เป็นกระแส และกำลังเป็นที่นิยมในสื่อออนไลน์มาจากประเทศจีน จากนั้นจะนำมาเก็บไว้ที่โกดังเก็บสินค้าย่านอำเภอเมืองสมุทรปราการเพื่อรอแพ็คส่งให้ลูกค้าชาวไทย โดยกลุ่มนายทุนชาวจีนดังกล่าวจะเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อใช้โฆษณาสินค้าเป็นจำนวนมาก รวมกว่า 44 ร้านค้า เพื่อกระจายการโฆษณา จากนั้นจะส่งออเดอร์-ที่อยู่การจัดส่งผ่านระบบโปรแกรมบริหารคลังสินค้า (http://yunzhi.wms.yunwms.com/)แล้วให้พนักงานทำการแพ็คบรรจุและส่งให้กับลูกค้าชาวไทย ทำมาแล้วประมาณ 1 ปี โดยมียอดการส่งสินค้าสูงถึง 2,000–3,000 ชิ้น/วัน ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมอื่นๆ อยู่ระหว่างติดต่อให้ บริษัท เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม และในส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากผลการตรวจวิเคราะห์พบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฐาน “มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมฯ” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 3.ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บา 4.ฐาน“ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความไม่ครบถ้วน” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.หากเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตรวจสอบแล้วว่าเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมจะมีความผิด ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ7.หากผลการตรวจวิเคราะห์พบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 8.พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 9. ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 10. ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ไม่ได้แจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้จดแจ้ง แล้วแต่กรณี” ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลสืบหาโกดังจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม จนสามารถตรวจยึดเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับได้จำนวนมาก การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการจับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม และเครื่องสำอางไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีราคาถูกกว่าปกติ หรือโฆษณาโปรโมชั่นการตลาดที่ราคาลดลงจนไม่น่าเป็นไปได้ ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย
โดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ