ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ทลายโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอมรายใหญ่มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท

0
225

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.วิวัฒน์  ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์  เชาวนาศัย รอง ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.อรัญญา  เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมกวาดล้างผู้ผลิตและขายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ ตรวจยึดและอายัดเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต และยาแก้ไอปลอมกว่า 10,000 ขวด มูลค่ากว่า 1,500,000 บาท

สืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ระดมกวาดล้างผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำต้มกระท่อมในพื้นที่ต่างๆ และพบว่ามีการขายน้ำกระท่อมบรรจุขวด คู่กับยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอ เพื่อนำไปผสมดื่มสร้างความมึนเมาหรือที่เรียกกันว่า “4×100” กก.4 บก.ปคบ. จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังการจำหน่ายยาแก้ไอที่ผิดกฎหมายควบคู่ไปกับการจับกุมกลุ่มผู้จำหน่ายน้ำกระท่อมเพื่อตัดตอนการเข้าถึงสารเสพติดชนิด 4×100 เรื่อยมา ต่อมาได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ว่ามีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ IWADIL โดยยาแก้ไอยี่ห้อดังกล่าวจัดว่าเป็นยาปลอมเนื่องจากทะเบียน 2A 41/48 ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนเลขทะเบียนเป็น 2A 81/65 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2565 แต่จากการตรวจร้านขายยาที่มีพฤติการณ์ขายยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงพบมีการขายยา IWADIL เลขทะเบียน 2A 41/48 ระบุวันที่ผลิตภายหลังวันที่ดังกล่าว จึงทำการสืบสวนจนทราบว่า บริษัทแห่งหนึง เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแก้ไอยี่ห้อดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาใช้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันเข้าตรวจสอบ บริษัทดังกล่าว ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ. นนทบุรี ซึ่งสถานที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่ผลิตยา ขณะตรวจสอบพบนางสาว นุชจรี (สงวนนามสกุล) แจ้งว่า ตนมีหน้าที่ควบคุมดูแลการผลิตยาน้ำและเป็นผู้สั่งทำฉลากยาปลอมดังกล่าว โดยนางสาวนุชจรีเป็นพนักงานของบริษัทฯ และไม่ใช่เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ทั้งนี้ นางสาวนุชจรี ให้การยอมรับว่าในวันที่เจ้าหน้าที่ อย. และ จนท ตำรวจเข้าตรวจสอบสถานที่นั้น ภายในโรงงานอยู่ระหว่างการผลิตยาน้ำยี่ห้อ IWADIL เลขทะเบียน 2A 41/48 รุ่นการผลิต IWL6605 ซึ่งฉลากแสดงวันที่ผลิต 22.11.23  วันหมดอายุ 22.11.25  ซึ่งมิใช่ความจริงทั้งนี้บริษัทฯได้รายงานการผลิตยารุ่นดังกล่าวในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2566 จำนวน 10,000 ขวด โดยใช้เลขทะเบียน 2A 81/65 ในการรายงาน อย. เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดและอายัด ของกลางรายละเอียดดังนี้ 1.ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ IWADIL เลขทะเบียน 2A 41/48 รุ่นการผลิต IWL6605 จำนวน 10,000 ขวด 2. ฉลากยายี่ห้อ IWADIL เลขทะเบียน 2A 41/48 รุ่นการผลิต IWL6605 จำนวน 20,000 ดวง 3.เครื่องติดฉลาก จำนวน 1 เครื่อง 4.ถังสีขาวบรรจุยาน้ำ จำนวน 150 ถัง (ภายในถังบรรจุยาน้ำจำนวนรวม 10,000 ขวด) 5.เครื่องบรรจุยาน้ำพร้อมเครื่องปิดฝาเกลียว จำนวน 1 เครื่อง 6.เครื่องล้างขวด จำนวน 1 เครื่อง 7. ขวดเปล่าสำหรับบรรจุยาแก้ไอ จำนวน 2,112 ขวด 8.ถังพักยาขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 1 ถัง 9.อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิต 10.เอกสารบันทึกการผลิต และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมตรวจยึดและอายัดของกลางเป็นยาแก้ไอปลอม จำนวน 10,000 ขวด เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต รวมทั้งฉลากและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มูลค่าของกลางกว่า 1,500,000 บาท ทั้งนี้บริษัทฯได้ทำการลักลอบผลิตยาปลอมโดยใช้ฉลากระบุเลขทะเบียน 2A 41/48  และรายงานการผลิตแจ้ง อย.ในปริมาณที่น้อยกว่าที่ผลิตขายจริงเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ฐาน “ผลิตยาปลอม” ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท

ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศรป. กล่าวว่า อย.ได้เฝ้าระวังกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ต้องควบคุมการผลิตและขายให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยกำหนดให้ผู้ผลิตขายยาดังกล่าว ได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ไม่สามารถขายโดยตรงไปยังประชาชนทั่วไป และผู้ผลิตต้องรายงานการผลิตและขายยาให้แก่ อย. ทุก 4 เดือน หากพบมีการขายยาอันตรายไปยังผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) นอกจากนี้ จากปัญหาการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด อย.ได้มีประกาศให้ผู้รับอนุญาตผลิตและขายยาดังกล่าวไปยังร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตไม่เกินเดือนละ 300 ขวด ต่อแห่ง และดำเนินการเฝ้าระวังการขายยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง  ผลการตรวจพบยาปลอมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจเฝ้าระวังร้านขายยาที่มีพฤติการณ์การขายยาแก้ไอ โดย อย.ได้ร่วมกับ กองกำกับการ 4 บก.ปคบ. ในการกวาดล้างร้านขายยาแก้ไอเครือข่ายที่มีการขอใบอนุญาตขายยาเพื่อบังหน้า และพบว่ายายี่ห้อ IWADIL เป็นหนึ่งในยาแก้ไอที่นิยมนำมาใช้ในทางที่ผิด เป็นที่รู้จักในชื่อ “ไอวา” การที่บริษัท ฟีฮาแล็บ จำกัด ผลิตยาโดยใช้ฉลากยาเลขทะเบียน 2A 41/48 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนทะเบียนไปเป็น 2A 81/65 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2565 และรายงานการผลิตและขายยา IWADIL 2A 81/65 รุ่นการผลิต IWL6605 จำนวนเพียง 10,000 ขวด  แต่เจ้าหน้าที่ตรวจพบหลักฐานการใช้ฉลากยาแสดงเลขทะเบียน 2A 41/48 รุ่นการผลิต IWL6605 จำนวนมากกว่าที่รายงาน อย.หลายหมื่นขวดนั้น อาจแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการผลิตยาดังกล่าว โดยจัดทำรายงานการผลิตและขายไม่ตรงกับความเป็นจริง  ซึ่งในวันที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบนั้น บริษัทกำลังผลิตยาน้ำแก้ไอ IWADIL และใช้ฉลากที่ระบุรุ่นการผลิต IWL6605 วันที่ผลิต  22.11.23  วันหมดอายุ 22.11.25  โดยไม่มีการลงบันทึกการผลิต  ไม่ล้างภาชนะบรรจุก่อนบรรจุยา ไม่มีการเก็บส่งตรวจห้องปฏิบัติการและควบคุมคุณภาพก่อนปล่อยผ่าน  ลักษณะเช่นนี้ถือว่าสถานที่ผลิตยาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการผลิตยาที่ดี (GMP)  และไม่สามารถมั่นใจได้ถึงคุณภาพ ความปลอดภัยของยาดังกล่าวที่จะใช้ในการรักษาโรค สำหรับการดำเนินคดีอาญากับผู้รับอนุญาตผลิตยา ทาง บก.ปคบ.จะเป็นผู้ดำเนินคดี ในส่วนของมาตรการทางปกครอง อย. ได้มีคำสั่งให้เรียกเก็บคืนยา IWADIL เลขทะเบียน 2A 41/48 รุ่นการผลิต IWL6605 ออกจากท้องตลาดภายใน 30 วัน ซึ่ง อย.จะเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการยาในการสั่งพักใช้ใบอนุญาตผลิตยา และพักใช้หนังสือรับรองมาตรฐานสถานที่ผลิตยา (GMP Certification) ต่อไป ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศช

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริงบก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค