วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีการขยายผลการจับกุมการทลายแหล่งผลิตน้ำสมุนไพร ผสมสเตียรอยด์ และแหล่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ได้มาตรฐาน ตรวจยึดของกลาง 49 รายการ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นศาลจังหวัดพล เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและเก็บอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 4 จุด ผู้ต้องหา 4 คน จากการตรวจค้นพบของกลางเป็นน้ำสมุนไพร กว่า 26,000 ขวด ยาเม็ดในกลุ่มสเตียรอยด์ จำนวนกว่า 2,092,000 เม็ด ยาเม็ดแก้ปวดไม่มีทะเบียน จำนวนกว่า 2,224,000 เม็ด ยาเม็ดแก้แพ้ จำนวนกว่า 5,000 เม็ด พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์การผลิตจำนวนมากส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนขยายผลถึงแหล่งจำหน่ายยา สเตียรอยด์ และผู้ผลิตน้ำสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ จำนวน 2 โรงงาน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดพลและศาลแขวงระยอง เข้าตรวจค้นพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดระยอง จำนวน 6 จุด ผู้ต้องหา 6 คน โดยพบของกลางน้ำสมุนไพรบรรจุขวด จำนวน 2,600 ขวด, อุปกรณ์การผลิต และพยานหลักฐานอื่นๆ ในคดีจึงได้ตรวจยึดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
ทั้งนี้แม้มีการกวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางสืบสวนยังพบว่ามีการลักลอบขายน้ำสมุนไพรผสมเสตียรอยด์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ และได้รับการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิ.ย. 2565 พบว่ามีประชาชนบริโภคยากษัยเส้น ตราปู่แดง แล้วได้รับผลข้างเคียงจนเกิดภาวะโรคหัวกระดูกสะโพกขาดเลือด (Avascular necrosis) และต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพื้นที่ จ.ระนอง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม จนทราบถึงแหล่งผลิต และจำหน่ายน้ำสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดพลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่จังหวัด จำนวน 2 จุด ดังนี้
1.อาคารเลขที่ 3 หมู่ 1 ต.แวงใหญ่ อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น พบ นางนภารัตน์ (สงวนนามสกุล) พบเครื่องดื่มสมุนไพรหลากหลายยี่ห้อและยาเม็ดกลุ่มเสตียรอยด์ พร้อมของกลางที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องดื่มผสมสมุนไพร จำนวน 33 รายการ 2.อาคารเลขที่ 44 หมู่ 2 ต.คอนฉิม อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น พบ น.ส.สุนิสา (สงวนนามสกุล) พบเครื่องดื่มสมุนไพรและและยาเม็ดกลุ่มเสตียรอยด์พร้อมของกลางที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องดื่มผสมสมุนไพร จำนวน 14 รายการ
โดยทั้ง 2 จุด พบของกลางน้ำสมุนไพรบรรจุขวด จำนวน 725 ขวด อุปกรณ์การผลิต ยาเม็ดกลุ่มเสตียรอยด์ จำนวนกว่า 14,000 เม็ด และพยานหลักฐานอื่นๆ ในคดีโดย นางนภารัตน์ฯ รับว่าตนเองเป็นผู้ซื้อยาสเตียรอยด์มาจาก น.ส.กนกลักษณ์ฯ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยเข้าตรวจค้น ในพื้นที่ อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น ก่อนหน้านี้แล้วนำมาผสมน้ำสมุนไพรก่อนนำไปจำหน่าย ส่วน น.ส.สุนิสาฯ รับว่าน้ำสมุนไพรดังกล่าวตนมีไว้เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าจริง จึงได้ตรวจยึดเป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตา 1.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ เป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 -ฐาน“ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินสามแสนบาท, ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตํารับ” ระวาง โทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ–ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ-ฐาน“โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือคุณประโยชน์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าปัญหาสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทยเป็นเวลานาน เป็นเพราะสรรพคุณของสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ลักลอบนำไปใส่ในยาชุดหรือนำไปผสมกับสมุนไพรขายในรูปแบบต่างๆ ทั้งยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ ยาประดง ยาผงสมุนไพร ยากษัยเส้น โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่หาซื้อยากินเอง ใช้กลยุทธ์กล่าวอ้างเป็นสมุนไพรปลอดภัยใช้รักษาสารพัดโรค ทั้งกระดูกทับเส้น ปลายประสาทอักเสบ เหน็บชา เก๊าท์ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ปวดเข่า
อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น เมื่อทานยาจะเห็นผลระยะแรกๆ แต่หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติที่สังเกตได้ตั้งแต่มีใบหน้ากลมอูมเหมือนพระจันทร์ มีโหนกที่แก้ม มีหนอกที่คอ ตัวบวมเริ่มมีไตวาย ถ้าหยุดยากะทันหันจะทำให้เกิดภาวะช็อกได้ “สเตียรอยด์” จึงเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ร้านยาขายให้ได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยามารับประทานเพื่อรักษาโรค ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมหรือที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลและกวาดล้างต่อไป หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เกิดผลกระทบกับร่างกายและเสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค