วันที่ 7 เมษายน 2565 ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท.รรท.รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีจับกุมหมอเสริมความงามเถื่อน
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก ให้ทำการตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาสถานพยาบาลเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กดังกล่าวพบว่ามีการโฆษณาระบุแพทย์ที่ทำการรักษา ชื่อนายแพทย์เอ (ขอสงวนชื่อนามสกุล) เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจสอบข้อมูลกับแพทย์สภาไม่พบว่า นายเอ ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับต่อศาล ต่อมาศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับเลขที่ 592/2565 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2565 ในข้อหา “โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน,ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้คำว่า แพทย์ นายแพทย์ แพทย์หญิง หรือนายแพทย์หญิง หรือใช้อักษรย่อของคำดังกล่าวหรือใช้คำแสดงวุฒิการศึกษาทางแพทย์ศาสตร์ หรือใช้อักษรย่อของวุฒิดังกล่าว ประกอบกับชื่อนามสกุลของตน หรือใช้คำหรือข้อความอื่นใดที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 13.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญา ที่ 236/2565 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เข้าตรวจค้นสถานพยาบาล คลินิกเวชกรรม ย่านแขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ขณะเข้าตรวจสอบพบนายเอ กำลังให้การรักษาประชาชนผู้มารับบริการอยู่ ในสถานพยาบาลดังกล่าว จากการตรวจสอบใบประวัติผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลพบว่า มีการรักษาเสริมความงามให้กับดารานักแสดง จำนวน 8 คน สอบถามนายเอ รับว่าตนเองไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมนายเอ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จากการสอบสวนนายเอ รับว่าตนเองไม่ได้จบแพทย์แต่อย่างใด โดยวุฒิการศึกษาที่ตนเองอ้างว่าจบมาจากต่างประเทศเป็นวุฒิที่ไม่เป็นความจริง เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.2560 ฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.กล่าวว่า ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกเข้ารับบริการเสริมความงามกับสถานพยาบาลเสริมความงามที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ซึ่งแพทย์ที่ทำการรักษาในคลินิกจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และขอเตือนผู้ที่แอบอ้างเป็นแพทย์เพื่อประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือสถานพยาบาลเสริมความงามที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในการเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค