ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB)ร่วมสบส.,สสจ.พังงา รวบแพทย์แผนจีนเถื่อนคาบ้านพักเจาะเลือด ฝังเข็มรักษาประชาชน

0
155

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย,พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ,พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสาธารณสุขจังหวัดพังงา โดย นพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมแพทย์แผนจีนเถื่อน ในพื้นที่ จ.พังงา ทำการฝังเข็ม เจาะเลือดรักษาโรคให้ประชาชน
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ให้ตรวจสอบกรณีมีประชาชนรับบริการฝังเข็มจากบุคคลที่สงสัยว่า ไม่ใช่แพทย์แผนจีน และไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ในพื้นที่ ต.บางเตย อ.เมืองพังงา โดยมีการรักษาให้ประชาชนด้วยวิธีการฝังเข็ม และใช้เข็มฉีดยาเจาะผิวหนังเพื่อปล่อยเลือดออกจากร่างกาย โดยมีประชาชนในพื้นที่ จ.พังงา และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเดินทางเข้ามารับการรักษาจำนวนมาก และผู้รับบริการหลายรายได้รับผลข้างเคียงจากการปล่อยเลือด คือ มีอาการใจสั่น ภาวะโลหิตจาง และอาการเจ็บปวด บวมช้ำบริเวณที่เจาะเลือด นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ จ.พังงา ว่า พบขยะติดเชื้อส่งกลิ่นเหม็นในพื้นที่สาธารณะ เช่น ปลอกใส่เข็มฉีดยา ถุงมือเปื้อนเลือด สำลี และกระดาษชำระเปื้อนคราบเลือดเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับผลกระทบด้านสุขอนามัย และเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากขยะดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๔ บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีบุคคลมีพฤติกรรมเปิดบ้านพักเป็นสถานที่รักษาโรคให้กับประชาชนทั่วไปและมีประชาชนหลายคนนั่งรอรับการตรวจรักษา ในพื้นที่ ต.บางเตย จ.พังงา จริง โดยในวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา(สสจ.พังงา) เข้าตรวจสอบบ้านพักอาศัยในพื้นที่ ต.บางเตย อ.เมืองพังงา จ.พังงา โดยขณะเข้าตรวจสอบพบ นายอาหยิง (สงวนนามสกุล) อายุ 61 ปี กำลังทำการรักษาโรคให้ประชาชนด้วยวิธีการฝังเข็ม และใช้เข็มฉีดยาเจาะบริเวณข้อพับขาทั้งสองข้างของประชาชนเพื่อระบายเลือดโดยไม่สวมถุงมือป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกแต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบพบว่า บ้านหลังดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้งผู้ทำการตรวจรักษา ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบอนุญาตการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนแต่อย่างใด โดยนายอาหยิงฯ กล่าวอ้างว่าตนมีความรู้เรื่องการรักษาแพทย์แผนจีน จากการสืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษ ซึ่งตนเป็นรุ่นที่ 3 โดยทำมาแล้วประมาณ 4 ปี
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุมนายอาหยิงฯ พร้อมตรวจยึดของกลาง ได้แก่ หัวเข็มฉีดยาหลายขนาด (ใช้สำหรับเจาะเลือด) จำนวน 445 ชิ้น, เข็มฉีดยา(สำหรับใช้ในการฝังเข็ม) จำนวน 1 กล่อง, แอลกอฮอล์สำหรับล้างแผล จำนวน 2 ขวด, ชุดทำความสะอาด จำนวน 1 ชุด, และขยะติดเชื้อเปื้อนคราบเลือดหลังทำหัตถการกับผู้ใช้บริการ จำนวน 2 ถุง ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพังงา ดำเนินคดีเบื้องต้นการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม 1.พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ฐาน “ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีน โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียน และไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า การรับบริการทางการแพทย์จากคลินิกเถื่อน หรือหมอเถื่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย อย่างการเสริมความงามก็มีสิทธิที่จะเกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อจากบริการท่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งในบางรายก็เกิดผลกระทบที่รุนแรงถึงขั้นพิการ ตาบอดสนิทหรือเสียชีวิต ดังนั้น ผู้รับบริการจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่ด่วนตัดสินใจเลือกรับบริการเพียงด้วยคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี หรือราคาที่ถูกกว่า โดยจะต้องเลือกรับบริการจากสถานพยาบาล และแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากหลักฐานที่สถานพยาบาลจะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ณ จุดบริการ ได้แก่ 1) มีการแสดงป้ายชื่อสถานพยาบาล ซึ่งแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 2) มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล 3) มีการแสดงใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล และ 4) มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการ โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายที่หน้าห้องตรวจ อีกทั้ง เพื่อความมั่นใจควรตรวจสอบชื่อสถานพยาบาลกับเว็บไซต์กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ (www.mrd-hss.moph.go.th)
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการรักษาโรคให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการ การตรวจรักษาโรคต้องกระทำโดยผู้มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากการกระทำหัตถการกระทำกับร่างกายโดยตรง วิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ควรตรวจสอบสถานพยาบาล ผู้ทำการตรวจรักษา หรือแพทย์ที่ทำการรักษาว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน หรือกลุ่มบุคคลที่อาศัยความหวาดกลัวต่อโรคร้ายของประชาชนมาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค