ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB)ร่วมสธ.สบส.สสจ.ปทุมธานี-สสจ.ระยอง ลุยปราบสวยเถื่อนตรวจค้น 5 จุดรวบ 4 หมอปลอมเสริมความงามให้ประชาชน

0
379

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ,นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โดยนายสุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีตรวจระดมตรวจค้น 5 จุด จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย โดยเป็นแพทย์เถื่อน 4 ราย,แพทย์จริง 1 รายและเจ้าของสถานที่ 1 ราย ตรวจยึดของกลางจำนวน 96 รายการ มูลค่ากว่า 500,000 บาท

พฤติการณ์สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ทำการตรวจสอบบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์เปิดร้านเสริมสวยและบ้านพักลักลอบให้การบริการฉีดหน้าเสริมความงามให้ประชาชน อาทิเช่น ฉีดโบท๊อก ฟิลเลอร์ ฉีดวิตามินบำรุงผิว ฯลฯ อีกทั้งมีการโฆษณาเชิญชวนประชาชนให้มารับการรักษา แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างโจ่งแจ้งโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี และ จ.ระยอง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการสืบสวนพบว่า มีบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์หลายรายทำการใช้สถานที่ต่างๆ เปิดรับการรักษาให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปจริง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้บริการ เช่น ใบหน้าผิดรูป หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิต จนนำมาสู่การระดมกวาดล้างหมอเถื่อน และสถานพยาบาลเถื่อนในครั้งนี้ รวม 5 จุด ดังนี้

1.ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งตั้งอยู่ภายในตลาดพระรูป 2 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นำหมายค้นของศาลจังหวัดธัญบุรี เข้าตรวจค้นพบน.ส.วสุพร (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี กำลังฉีดวิตามินบำรุงผิวเข้าเส้นเลือดให้กับผู้มารับบริการ จากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวเปิดเป็นร้านเสริมสวยบังหน้าเพื่อใช้นัดหมายลูกค้ามาฉีดรักษา โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ทำการตรวจรักษา ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดย น.ส.วสุพร ฯ รับว่าตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขา Logistic เคยทำงานที่คลินิกเสริมความงาม จึงนำความรู้ที่มี รับฉีดเสริมความงามให้กับลูกค้า โดยใช้เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางในการนัดกับลูกค้า และโฆษณาโดยใช้ร้านเสริมสวยเป็นสถานที่นัดลูกค้ามาฉีด มีลูกค้าวันละประมาณ 3-10 คน ทำมาแล้วประมาณ 7 เดือน รายเดือนละประมาณ 80,000 –100,000 บาท ในส่วนยา เครื่องมือแพทย์ที่นำมาใช้กับประชาชนสั่งมาจากผู้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ออนไลน์ ตรวจยึด ยาแผนปัจจุบันมีทะเบียนถูกต้อง จำนวน 6 รายการ ยาแผนปัจจุบันที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 8 รายการ เครื่องมือแพทย์ 4 รายการ เวชภัณฑ์ 5 รายการ  รวมของกลาง จำนวน 14 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 100,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

2.สถานพยาบาลตั้งอยู่บริเวณถนนราชชุมพล ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นำหมายค้นของศาลจังหวัดระยอง ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น พบ พญ.นิด (นามสมมติ) อายุ 42 ปี กำลังให้การรักษาประชาชน ตรวจสอบสถานพยาบาลไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล โดยแพทย์คนดังกล่าว รับว่าเป็นเจ้าของคลินิก ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขออนุญาต แต่ได้เปิดทำการรักษาก่อนโดยเปิดมาแล้วประมาณ 1 เดือน โดยใช้เฟซบุ๊ก ในการโฆษณานัดหมายลูกค้า ตรวจยึดยาแผนปัจจุบันที่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 19 รายการ เครื่องมือแพทย์ จำนวน 4 รายการ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษา เวชระเบียน รวมมูลค่าของกลางประมาณ 200,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

3.บ้านพักอาศัย ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.ตาขัน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นำหมายค้นของศาลจังหวัดระยอง เข้าตรวจค้นพบน.ส.ปุญญิสา (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี กำลังฉีดรักษาให้กับประชาชน พบว่าสถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ และไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ทำการตรวจรักษาไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดย น.ส.ปุญญิสาฯ รับว่าจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากนั้นไปเรียนต่อหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล เมื่อจบแล้วได้ไปทำงานในคลินิกใน อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ได้ 4 ปี ภายหลังลาออกจากคลินิกได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาและประสบการณ์จากการทำงานมาเปิดรักษาโดยการนัดประชาชนมารับบริการที่บ้านโดยใช้เฟซบุ๊ก ในการโฆษณา และติดต่อนัดหมายลูกค้า ทำมาได้ประมาณ 1 ปี รายได้เดือนละประมาณ 50,000 – 100,000 บาท ตรวจยึดยาแผนปัจจุบันที่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 10 รายการ ยาแผนปัจจุบันที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 7 รายการ (รวม 17 รายการ) เครื่องมือแพทย์ จำนวน 8 รายการ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษา จำนวน 3 รายการ รวมมูลค่าของกลางประมาณ 100,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี น.ส.ปุญญิสาฯรับว่าสั่งซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์

  4.ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง นำหมายค้นของศาลจังหวัดระยอง เข้าตรวจค้นพบน.ส.กฤศญา (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี กำลังฉีดยาบำรุงผิวให้กับประชาชน น.ส.ศิริรัตน์ เจ้าของสถานที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการและไม่มีใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล อีกทั้ง ผู้ทำการตรวจรักษ ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมแต่อย่างใด น.ส.กฤศญาฯ รับว่าตนเองจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ มีประสบการณ์เคยทำงานคลินิกมา 10 ปี โดยทำงานที่ร้านแห่งนี้ได้เพียง 2 วัน ได้ค่าจ้างเป็นเคส เคสละ 400 บาท สถานที่แห่งนี้เปิดมาแล้วประมาณ 1 ปีโดยใช้เฟซบุ๊ก ในการโฆษณา และนัดหมายลูกค้า ตรวจยึดยาแผนปัจจุบันที่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 7 รายการ ยาแผนปัจจุบันที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 5 รายการ (รวม 12 รายการ) เครื่องมือแพทย์ 3 รายการ เวชภัณฑ์ 12 รายการ รวมมูลค่าของกลางประมาณ 100,000 บาท โดยสั่งยามาจากสื่อออนไลน์

5.คลินิกแห่งหนึ่งถนนรัชดา-รามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร นำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นพบน.ส.เบญจภรณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี กำลังนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอางมาฉีดให้กับประชาชน โดยน.ส.เบญจภรณ์ รับว่าตนเองจบปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน ตรวจยึดผลิตภัณฑ์จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่ฉลากระบุฉีด จำนวน 4 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ทำการรักษา และเจ้าของสถานที่ ทั้งหมด 6 ราย โดยผู้ทำการรักษาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 ราย ปริญญาตรี 2 ราย และเรียนจบแพทย์จริงแต่รักษาในสถานที่ไม่ได้รับอนุญาต 1 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไ

นายแพทย์ ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า การที่สถานพยาบาลนำหมอเถื่อน เข้าสวมรอยให้บริการแทนแพทย์จริงในคลินิก ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชส หากเป็นการเสริมความงามก็มักจะพบผลกระทบ ทั้ง แผลติดเชื้อ, หน้าอกผิดรูป เกิดความพิการจากการฉีดสารเสริมความงาม หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ ดังนั้น ผู้รับบริการจะต้องหมั่นสังเกตเอกสารหลักฐานประจำคลินิก นอกจากเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก และใบอนุญาตให้ประกอบกิจการแล้ว ก่อนเข้าห้องตรวจรักษาจะต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐาน “แบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ (ส.พ.6)” ที่ติดอยู่หน้าห้อง ซึ่งจะแสดงภาพถ่าย ชื่อ-นามสกุล สาขา และเลขที่ใบอนุญาต และเพื่อความมั่นใจขอให้นำชื่อแพทย์ไปตรวจสอบในเว็บไซต์แพทยสภา (https://tmc.or.th/) หากไม่พบก็ขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการ และแจ้งเบาะแสมาที่กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที

 นายสุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น การเลือกรับบริการคลินิกจากแค่ราคา การรีวิวจาก Influencer หรือคำโฆษณาเท่านั้น อาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ เนื่องจากบริเวณใบหน้ามีเส้นเลือดและเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก หากทำการฉีดรักษาโดยบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์อาจทำให้ได้รับความเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด และเกิดผลกระทบกับใบหน้าได้ง่าย บางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมยากต่อการแก้ไข และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนหากพบสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ลักษณะหมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค